» » » » A Covid Journey Year 2 (TFH เที่ยวที่บ้าน ปี 2)

A Covid Journey Year 2 (TFH เที่ยวที่บ้าน ปี 2)

ปีที่แล้ว (2020) คุณแม่เขียนบทความ “TFH เที่ยวที่บ้าน” สรุปช่วงเวลา 4 เดือนของการปิดเทอมแบบกะทันหันพร้อมงดสอบปลายภาคเพราะสถานการณ์โควิด ยาว 4 หน้า A4

ไม่คิดเลยว่าปีนี้จะได้มาเขียนบันทึก “A Covid Journey Year 2 (TFH เที่ยวที่บ้าน ปี 2)” อีกครั้ง เพื่อสรุปช่วงเวลา 7 เดือน (ปิดเทอม 2 เดือน + เปิดเทอม 4 เดือน + ปิดเทอม 1 เดือน) โดยเริ่มจากการปิดเทอมแบบกะทันหันพร้อมงดสอบปลายภาค (เหมือนเดิม) เมื่อต้นเดือนเมษายน เพราะสถานการณ์โควิดระลอกใหม่

เรียนออนไลน์

ครั้งนี้ต่างจากเดิมตรงที่ลูกต้องสอบเข้าโรงเรียนใหม่ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับวันสอบและความกังวลเรื่องการบริหารจัดการสถานที่สอบของแต่ละโรงเรียน โชคดีที่โรงเรียนแต่ละแห่งไม่เลื่อนสอบและมีการควบคุมการแพร่เชื้อ (ที่อาจเกิดขึ้น) ได้เป็นอย่างดี เช่น บางแห่งลดระยะเวลาสอบให้สั้นลงโดยไม่มีการปล่อยพักรับประทานอาหารกลางวัน และบางแห่งจัดเตรียมอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทานในห้องสอบเลย

ลูกปิดเทอมไม่ถึง 2 เดือนดีเพราะมีเรียนปรับพื้นฐานก่อนขึ้น ม. 1 และ ม. 4 รอบนี้ทั้งสองคนขอนั่งเรียนคนเดียวในห้องแยกต่างหาก ไม่มีใครอยากนั่งเรียนในห้องทำงานของคุณแม่ที่มีโต๊ะหนังสือพร้อมอยู่แล้ว คุณพ่อจึงเสียสละมานั่ง WFH ในห้องทำงานโต๊ะติดกันกับคุณแม่ (ประหนึ่งว่าเป็นเพื่อนร่วมงานแผนกเดียวกัน) แล้วย้ายโต๊ะหนังสือลูกเข้าห้องนอนแยกกันสองห้อง ต่างคนต่างรับผิดชอบการเรียนออนไลน์ของตนเอง ไม่มีคุณแม่คอยเตือนให้จดการบ้าน แคปหน้าจอ หรือตั้งใจเรียนอีกต่อไป

เปิดเทอมใหม่กับเพื่อนใหม่ทางออนไลน์ ตลอดเวลา 4 เดือนคุณแม่เห็นว่าเป็นการเรียนออนไลน์ที่ลูกต้องปรับตัวอย่างมากทั้งเรื่องระบบหรือแอปที่ใช้เข้าเรียน การบ้าน งานกลุ่ม และการสอบ วันจันทร์ถึงวันศุกร์มีเรียนตั้งแต่แปดโมงครึ่งถึงสี่โมงเย็น ทำการบ้านถึงห้าโมงหรือหกโมง วันเสาร์อาทิตย์ทำรายงานและงานกลุ่ม มีเวลาพักผ่อนแค่สัปดาห์ละครึ่งวัน

ลูกคนโตปรับตัวและดูแลตัวเองได้ดี นาน ๆ ครั้งมาขอให้คุณแม่สอนวิชาภาษาอังกฤษบ้าง (ไม่มาบ่อย ๆ เพราะรู้ดีว่าคุณแม่สอนนาน สอนละเอียด และถามกลับมากกว่าครูและ Teacher หลายเท่า) ส่วนคนเล็กยังต้องการกำลังใจและความช่วยเหลืออยู่เนือง ๆ (ต้องคอยถามลูกทุกวันว่ามีการบ้านไหม ให้ช่วยอะไรหรือเปล่า การบ้านของลูกคนเล็กคือการฝึกทำงานร่วมกันของทุกคนในครอบครัวอย่างแท้จริง)

ประชุมออนไลน์

งานหลักของคุณพ่อคือเข้าประชุม ถึงแม้ว่าคุณพ่อจะใส่ Headphone แต่เมื่อนั่งโต๊ะติดกันกับคุณแม่ ทำให้คุณแม่ต้องทำสมาธิเพ่งจิตไปที่งานแปลข้างหน้าอย่างยากเย็น (บางทีหูอยากรู้อยากฟังไปเอง) เพราะมีเสียงพูดของคุณพ่อแทรกมาเป็นระยะ ๆ โชคดีที่คุณพ่อนั่งทางขวาของคุณแม่ (หูขวาที่ผ่าตัดไปเมื่อ 11 ปีก่อน ฟังไม่ค่อยได้ยินพอดี)

การทำงานที่บ้านรอบนี้ คุณพ่อเปลี่ยนเวลาขับรถเป็นเวลาปลูกต้นไม้ให้งอกงามออกดอกสวยหลายต้น ทั้งพวงคราม บัวดิน แพรทับทิม ลานไพลิน กล้วยไม้ ทิลแลนเซีย เยอบีร่า ไม้อวบน้ำ และอีกหลายต้นที่คุณแม่จำชื่อไม่ได้ แถมยังช่วยปลูกต้นหอม กระเพรา มะนาว มะกรูด พริก ให้คุณแม่ด้วย แต่ไม่มีพืชสวนครัวต้นไหนอยู่ได้นานเลย สุดท้ายคุณแม่ต้องไปจ่ายตลาดซื้อผักต่าง ๆ มาทำกับข้าวเหมือนเดิม

จะว่าไปแล้ว คุณพ่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกเรื่องของความรับผิดชอบและความตรงต่อเวลา คุณพ่อตื่นตีห้ามารดน้ำต้นไม้ อาบน้ำแต่งตัว กินมื้อเช้าเจ็ดโมง เข้าห้องทำงานก่อนแปดโมง ระหว่างวันจะออกจากห้องเฉพาะเวลาเข้าห้องน้ำ ลงมากินมื้อกลางวันตอนเที่ยงตรง ออกไปคุยกับต้นไม้แล้วกลับขึ้นห้องทำงานก่อนบ่ายโมง ออกจากห้องทำงานหลังห้าโมง ไปเดินชมต้นไม้อีกรอบ ก่อนเข้าบ้านมาอาบน้ำเพื่อกินมื้อเย็นตอนหกโมง

เห็นได้ชัดว่าลูกมีจังหวะชีวิตเป็นระบบระเบียบคล้าย ๆ กัน

งานบ้านและงานแปล

ช่วงไตรมาสแรกของปีงานแปลน้อยลงจนคุณแม่แปลกใจ แต่ก็ทำให้มีเวลาอ่านหนังสือ จัดชั้นหนังสือ และส่งต่อหนังสือให้เพื่อน ๆ รวมถึงพาคุณยายหาหมอได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ และทุกเดือนตามลำดับอาการที่ค่อย ๆ ดีขึ้นของคุณยาย จนมาถึงไตรมาสที่สองของปี มีงานด่วน งานมาก และงานเปลี่ยนแนวจากที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งคุณแม่เล่าไว้ในบทความเรื่องนักแปลอเนกประสงค์แล้ว

งานหนักของคุณแม่คือการทำอาหารวันละ 3 มื้อ โดยที่คุณแม่หุงข้าวและทำกับข้าวมื้อต่อมื้อ ประจวบกับสามคนพ่อลูกพักเที่ยงไม่ตรงกัน ลูกคนโตพักสิบเอ็ดโมงครึ่ง คุณพ่อพักเที่ยง ลูกคนเล็กพักเที่ยงครึ่ง ถ้าเป็นของทอด จะทอดใหม่ก่อนถึงเวลากินของแต่ละคน ทำให้คุณแม่ต้องเข้าครัวตั้งแต่สิบเอ็ดโมงเพื่อทำมื้อกลางวัน และอยู่จนคนลูกคนเล็กกลับเข้าห้องเรียนตอนบ่ายโมงครึ่ง กว่าจะล้างจานเสร็จก็บ่ายสอง คุณแม่ถึงได้กลับขึ้นมาแปลงานของตัวเองต่อ

ในวันที่คุณพ่อเข้าออฟฟิศ คุณแม่ต้องเตรียมข้าวกล่องและผลไม้ให้คุณพ่อไปกินที่ทำงานด้วย คุณพ่อเตรียมกระติกใส่น้ำแข็งไปที่ทำงาน นั่งทำงานในห้องทำงานคนเดียว บอกแม่บ้านที่ทำงานให้งดเสิร์ฟทั้งอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเตรียมไปเองจากบ้านแล้ว

งานบ้านกลายเป็นเรื่องที่ครอบครัวของเราต้องปรับตัว ปกติที่บ้านจะมีแม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดบ้าน ล้างห้องน้ำ รีดผ้า และซักผ้าด้วยมือสัปดาห์ละหนึ่งตะกร้าเล็ก ๆ ส่วนงานที่สมาชิกในครอบครัวทำกันเอง คือ ทำกับข้าว ล้างจาน ซัก/อบผ้าด้วยเครื่อง และกรอกน้ำ

ช่วง 3 เดือนแรก คุณพ่อคุณแม่ปรับเวลาให้แม่บ้านเข้ามาทำงานบ้านแค่สัปดาห์ละ 1 วัน จากเดิมสัปดาห์ละ 2 วัน ต้องเช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ก่อนเข้าบ้านทุกครั้งและใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ทำงานบ้าน พอ 4 เดือนหลัง เราตัดสินใจงดแม่บ้านเพราะยอดผู้ติดเชื้อสูงมากและลูกยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้ทุกคนมีงานเพิ่ม คุณแม่ล้างห้องน้ำ คุณพ่อกับลูก ๆ ช่วยกันซักผ้า สามคนพ่อลูกลงขันซื้อ Autobot หลังจากได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ดูดฝุ่นและถูบ้าน

เมื่อต้องล้างห้องน้ำเองทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 เดือน ทำให้คุณแม่รู้ว่าการล้างห้องน้ำ คืองานบ้านที่คุณแม่ชอบมากที่สุด คงเพราะมีขอบเขตชัดเจน ปิดห้องทำความสะอาดห้องละหนึ่งชั่วโมง (รวม 3-4 ห้อง) เหมือนได้ออกกำลังกายและฝึกสมาธิไปพร้อม ๆ กัน พอถามคุณพ่อว่าคุณแม่ล้างห้องน้ำสะอาดมั้ย คุณพ่อตอบว่าสะอาด พอถามว่าหอมมั้ย คุณพ่อถามกลับว่า อะไรคือหอม ถ้าหมายถึงกลิ่นเดทตอลก็ตอบว่าหอมก็ได้

งานจ่ายตลาดก็เป็นงานหลักอีกอย่างหนึ่งของคุณแม่ที่ต้องออกไปซื้อของสดต่าง ๆ รวมถึงนม โยเกิร์ต และชีสของลูกสัปดาห์ละครั้ง เพราะตู้เย็น 2 ตู้ที่บ้านเก็บของกินสำหรับ 5 คน (รวมคุณยาย) ได้แค่นี้ ระยะหลังคุณพ่อสั่งนมโดยตรงจากเมจิสัปดาห์ละครั้ง นม 35 ขวด โยเกิร์ต 30 ถ้วย คุณแม่สั่งปลาจากจันทบุรีบ้างกระบี่บ้าง (สั่งตามเพื่อน) ได้ปลาสดและราคาถูกกว่าไปซื้อเองตามซูเปอร์มาร์เก็ต

อาหารที่คุณแม่ทำจะวนซ้ำ ๆ เกือบทุกสัปดาห์ ได้เมนูใหม่จากคุณย่าบ้าง คุณย่าทวดบ้าง และมีหลายครั้งที่ต้องทำตามเมนูที่ลูกชายจิ้มเลือกมาให้พร้อมส่งคลิปวิธีทำมาด้วย แต่ละอย่างที่ลูกเลือกจะใช้เวลาทำนานมาก ลูกกินหมดทุกครั้งและบอกว่าอร่อย คุณแม่ก็ยิ่งบ้ายอ ทำเมนูใหม่ ๆ ให้ลูกกินเรื่อย ๆ

ถ้าถามคุณแม่ว่าทำงานบ้านเหนื่อยไหม ขอตอบว่าบางครั้งเหนื่อยมากจนน้ำตาซึมเพราะไม่เคยชอบทำงานบ้านหรือทำกับข้าวเลย แต่เมื่อต้องทำก็ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ตามหน้าที่เพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกทุกคนในครอบครัว โชคดีที่คุณพ่อช่วยงานบ้านหลายอย่าง ลูก ๆ ก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะที่จริงแล้วงานบ้านคืองานของครอบครัว

การฝึกให้ลูกทำงานบ้านและสอนให้ลูกรักและดูแลบ้านให้สะอาดน่าอยู่เป็นเรื่องที่ควรทำตั้งแต่ลูกยังเล็ก การทำงานบ้านเป็นกิจกรรมทำร่วมกันที่สนุกและน่าภูมิใจ ในยามปกติถึงแม้จะมีแม่บ้านเข้ามาทำงานบ้านให้ก็ตาม แต่ทุกคนควรทำงานบ้านเป็น เพื่อที่ยามจำเป็นหรือยามผิดปกติเช่นนี้ บ้านของเราจะยังคงสะอาดเรียบร้อยและน่าอยู่เหมือนเดิม

ฉีดวัคซีน

คุณพ่อและคุณแม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มแรกต้นเดือนมิถุนายน คุณยายได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกต้นเดือนกรกฎาคม ที่บ้านเราจัดเป็นบ้านที่มีระดับความระมัดระวังตัวขั้นสุดบ้านหนึ่ง การใช้ชีวิตประจำวันของเรามีขั้นตอนปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยที่เคร่งครัดมากในช่วงที่มียอดติดเชื้อสูง ทั้งงดแม่บ้าน งดรับแขก ลูกชายสองคนงดออกจากบ้าน (เพราะยังไม่ได้ฉีดวัคซีน)

ใครออกจากบ้าน กลับมาถึงบ้านต้องอาบน้ำทันที พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อของที่เข้าบ้านทุกชิ้น อะไรที่พ่นไม่ได้ก็ใช้แอลกอฮอล์เช็ดทีละชิ้น เช่น นมกับโยเกิร์ต คุณแม่ใช้ผ้าชุบแอลกอฮอล์เช็ดทีละชิ้นรวม 65 ขวด/กล่อง คุณพ่อถามว่าเช็ดทีละขวดเลยหรือ คุณแม่ถามกลับว่าจะให้เช็ดทีละกี่ขวดหรือ

การจ่ายตลาดสัปดาห์ละครั้งของคุณแม่จะเลือกไปแต่เช้าตอนประตูซูเปอร์มารก์เก็ตเปิด ส่วนใหญ่ไม่เจอใครนอกจากพนักงานคิดเงิน บางครั้งเจอคนต่อคิวจ่ายเงินบ้างเพราะตอนเช้ามีช่องคิดเงินเปิดแค่เคาน์เตอร์เดียว คนที่ยืนต่อคิวคุณแม่ใส่หน้ากากปกติ แต่ยืนติดคุณแม่ประหนึ่งว่ามาด้วยกันเกือบทุกคนที่เจอ คุณแม่ต้องส่งสายตาเหยี่ยวแล้วบอกให้ไปยืนที่เส้นรอทุกครั้ง กลับมาเล่าให้คุณพ่อฟังว่าเจอคนแบบนี้อีกแล้ว ครั้งต่อไปจะใช้วิธีไอใส่เลยดีไหม แต่ก็ไม่เคยได้ลองทำสักที

จะว่าไปสถานการณ์แบบนี้ก็คล้าย ๆ การขับรถเหมือนกัน คือ เราขับรถถูกกฎและระมัดระวังอย่างดี แต่คนอื่นยังมาชนเราเพราะเมาบ้าง ไม่เคารพกฎบ้าง เหมือนที่เราใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หันไปเจอคนหน้ากากตก แถมมายืนเสียใกล้ ไม่รู้จักเว้นระยะห่างกันบ้างเลย เท่าที่คุยกับเพื่อน ครอบครัวที่มีผู้สูงวัยและเด็กมักจะมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษพอ ๆ กับครอบครัวของเรา และเราไม่เคยคิดว่าตัวเองระวังมากเกินไป เราทำที่เราสบายใจและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

หลังจากที่คุณพ่อ คุณแม่ และคุณยายได้ฉีดวัคซันเข็มที่สองเรียบร้อย พวกเรากังวลว่าลูกชายสองคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย แต่กังวลอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องเปลี่ยนมากังวลว่าจะเลือกวัคซีนอะไรให้ลูกดี ปลายเดือนกันยายนเป็นช่วงเวลาระดมสมองอย่างหนัก ทั้งอ่านข้อมูล ดูข่าว และคุยกับเพื่อนที่มีลูกวัยเดียวกันทั้งอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และเพื่อนในกรุงเทพฯ ทั้งเพื่อนมัธยม เพื่อนมหาวิทยาลัย และอดีตเพื่อนร่วมงาน คุยวนซ้ำไปเรื่องเดิม ๆ ความกังวลเดิม ๆ เปลี่ยนใจไปมาหลายครั้ง

จนในที่สุด คุณพ่อบอกว่าพอแล้ว ตัดสินใจแล้วไม่ย้อนกลับมาคิดอีก คุณแม่เองสรุปกับเพื่อน ๆ ทุกกลุ่มว่า แต่ละบ้านมีข้อจำกัดและปัจจัยในการเลือกไม่ฉีด ฉีด และฉีดวัคซีนใดให้ลูก แล้วแต่การพูดคุยกันภายในครอบครัว ที่สำคัญคือลูกต้องได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจแบบมีข้อมูลพร้อม สุดท้ายคือทุกคนต้องยอมรับการตัดสินใจของครอบครัว หากเกิดเหตุใด ๆ ขึ้นในอนาคต ไม่ต้องนึกเสียใจว่าเราตัดสินใจพลาด ให้คิดเสมอว่าเราตัดสินใจอย่างดีที่สุดแล้วและพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้น (หากมี) ไปด้วยกัน

ตอนนี้ลูกชายทั้งสองคนฉีดวัคซีนเข็มแรกไปเรียบร้อยแล้ว

ปรับตัว

ช่วงเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา บ้านเราปรับการใช้ชีวิตได้โดยไม่ลำบากนัก มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นให้พอได้ตื่นเต้นบ้างช่วงเดือนกรกฎาคมที่มีไฟไหม้โรงงานสารเคมีไม่ไกลจากบ้านนัก ทำให้เราต้องย้ายไปนอนที่อื่นหนึ่งคืน ชุลมุนกันพอสมควร คุณแม่เขียนเล่าไว้ใน Crisis At Hand

สัปดาห์ถัดมา ท่อน้ำประปาในผนังห้องน้ำชั้นสองแตก น้ำพุ่งทะลุกำแพงออกมาเป็นสาย เจิ่งนองบนเตียงนอนคุณยายในห้องติดกัน นัยว่าสถานการณ์โควิดยังไม่เร้าใจพอ ชีวิตยังมีเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้จัดการไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

ปีนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านพากันบอกลาเจ้าของบ้านหลังจากทำงานมานาน ทั้งหม้อหุงข้าว (17 ปี) เครื่องอบผ้า ( 10 ปี) ทีวี (10 ปี) แถมมีสมาชิกใหม่อย่างเครื่องฟอกอากาศ (เพิ่มอีก 2 เครื่อง) เครื่องทำบิงซูและเครื่องทำวอฟเฟิล รวมถึงกลองไฟฟ้าของลูกชายคนโต ได้ประหยัดค่าท่องเที่ยวมาใช้จ่ายกับของใช้จำเป็นในบ้านเพิ่มความสุขให้สมาชิกทุกคนยามต้องอยู่ติดบ้านในช่วงเวลาเช่นนี้

ท่ามกลางความยากลำบากของอีกหลาย ๆ ครอบครัว บางคนต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักไปในช่วงปีที่ผ่านมานี้ สิ่งที่เราทำได้คือส่งกำลังใจ ส่งหนังสือ ส่งต้นไม้ ส่งของกิน อุดหนุนคนรู้จัก แล้วส่งต่อให้ญาติ ๆ เพื่อน ๆ แทนความคิดถึงและห่วงใย ได้แต่หวังว่าทุกคนจะผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปด้วยกัน ได้กลับมารวมญาติ นัดเจอกลุ่มเพื่อนประจำปี หลังจากห่างหายกันไปนานถึงสองปี

ปีนี้บ้านเราอาจไม่ได้ทำบุญหรือบริจาคเงินให้องค์กรต่าง ๆ มากนัก เพียงทำตัวเองไม่ให้เป็นภาระใคร ประคับประคองคนในครอบครัว ช่วยเหลือคนรอบข้างที่ใกล้ชิดก่อน แล้วค่อยขยายวงไกลออกไปเท่าที่ทำไหว

สุดท้ายแล้ว เราต้องรอดไปด้วยกัน ชีวิตต้องกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแบบ New Normal หรือ Next Normal ก็ตามที

ขอจบ A Covid Journey Year 2 (TFH เที่ยวที่บ้าน ปี 2) ยาว 4 หน้า A4 (อีกแล้ว) ไว้เพียงเท่านี้ หวังว่าปีหน้าจะไม่ต้องกลับมาเขียนบันทึก เที่ยวที่บ้าน ปี 3 อีกแล้วนะ

 

Imagery: TFH Y2 familygallery

Imagery: TFH Y2 resortgallery

Facebook Comments

Leave a Reply